9 ก.พ. 2551

ความดี

อะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว เรื่องความดีความชั่วจัดเป็นเรื่องยากเรื่องหนึ่ง ที่จะรู้และเข้าใจ เมื่อรู้และเข้าใจแล้วก็ยังยากที่จะปฏิบัติการเว้นความชั่ว ทำความดีให้สมบูรณ์ได้ ทั้งนี้เพราะมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้ปฏิบัติไม่ได้ สมความต้องการและปฏิบัติไม่ได้เสมอไป ตามหลักพุทธศาสนา ถือว่า การกระทำ คำพูดหรือความคิดที่เป็นไปเพื่อไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่นให้เดือดร้อนและมีประโยชน์ ถือว่าเป็นความดี ที่ตรงกันข้ามเป็นความชั่ว ที่กล่าวมานี้เป็นหลักกว้าง ๆ อาจมีข้อปลีกย่อยอื่น ๆ อีกที่จะต้องทำความเข้าใจพิเศษอีกมากมาย ในองค์ประกอบดังกล่าวข้างต้นนั้นถือเอาประโยชน์เป็นจุดยืนที่สำคัญ คือเมื่อพิจารณาเล็งถึงประโยชน์แล้ว แม้ตนเองจะต้องเดือดร้อนบ้าง ผู้อื่นเดือดร้อนบ้างก็ถือว่าเป็นความดี เช่น พ่อแม่ต้องเดือดร้อนเหนื่อยยากในการทำมาหาทรัพย์เพื่อให้ลูกได้ศึกษาเล่าเรียน ตัวลูกเองก็ต้องเดือดร้อน ทุกข์กายทุกข์ใจในการศึกษาเล่าเรียน ต้องอดทนอดออม ต้องหักใจไม่ให้หลงใหลเพลิดเพลินในการเที่ยวเล่น เอาเวลาเหล่านั้นมาศึกษาเล่าเรียน แต่การกระทำดังกล่าวนี้มีคุณประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตจึงเป็นความดี ในทางกลับกัน สิ่งที่ทำให้ตนเองและผู้อื่นมีความสุข ความเพลิดเพลิน แต่ไม่มีประโยชน์ กลับจะเป็นโทษทั้งแก่ตนและผู้อื่น เช่น การแสวงหาความสุขจากอบายมุขต่าง ๆ ถือว่าเป็นความชั่ว พิจารณาตามหลักที่สูงขึ้นไปสักหน่อย มาตรฐานแห่งความดี ความชั่ว ท่านถือเอา ความโลภ โกรธ หลง และไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นหลักพิจารณา คือกรรมใดที่ทำเพราะโลภ โกรธ หลง เป็นมูล จัดเป็นกรรมชั่ว ถ้าทำด้วยความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นมูล คือทำด้วยเหตุผลบริสุทธิ์จัดเป็นกรรมดี โลภ โกรธ หลง เป็นอกุศลมูล รากเหง้าของอกุศล ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นกุศลมูล รากเหง้าของกุศล ท่านว่าเมื่อกุศลมูลเกิดขึ้นแล้ว กุศลอย่างอื่นที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เจริญยิ่งขึ้น ฝ่ายอกุศลมูลก็เช่นเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น: